วันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาว์ อินใย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ “การประชุมแนวทางการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการพัฒนาเมือง แห่งอนาคต จังหวัดเลย” ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคารปฏิบัติการสหวิทยาการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (อาคาร 19) มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการในครั้งนี้ เป็นการสร้างแนวทางการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองเลยแห่งอนาคต จังหวัดเลย และจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาโจทย์ด้านโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต ซึ่งได้รับการร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน ได้แก่ คณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย หอการค้าจังหวัดเลย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมบูรณาการ ดำเนินกิจกรรมโดย ดร.สัญชัย เกียรติทรงชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

สืบเนื่องจากกิจกรรมติดตามประเมินผลและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และนวัตกรรมโลจิสติกส์ พบว่าการที่จะพัฒนาการเส้นทางการท่องเที่ยว ตามโครงการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานการท่องเที่ยวจังหวัดเลยเชื่อมโยงรถไฟจีน (สปป.ลาว) นั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งภายในจังหวัดเลยก่อน เนื่องจาก จังหวัดเลยมีศักยภาพในด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มาเยือนเป็นจำนวนมาก

จากสถิติข้อมูลของสำนักงานสถิติจังหวัดเลย ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดเลย ปี 2559 จำนวน 272,546 คน (สำนักงานสถิติจังหวัดเลย, 2559.) อีกทั้งเมืองมีการขยายตัวออกไปวงกว้าง มีการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย และสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า หน่วยงานราชการ สถานีขนส่งผู้โดยสารทั้งทางบกและอากาศโดยรอบขอบเมือง ส่งผลให้เกิดความต้องการในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งนิยมใช้รถรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ในการเดินทาง ทำให้ถนนและสถานที่จอดรถในเขตเมืองไม่เพียงพอต่อปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ประกอบกับระบบขนส่งมวลชนของเมืองไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในเมืองและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในจังหวัดเลย จึงทำให้เกิดปัญหาจราจรตามมาในที่สุด
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จึงร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายในกับศูนย์การศึกษาโลจิสติกส์และการค้าชายแดน ดำเนินการ จัดการอภิปรายแนวทางการพัฒนาโจทย์วิจัยด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต จังหวัดเลย เพื่อเพื่อขับเคลื่อนโครงการและร่วมพัฒนางานวิจัยรองรับการเป็นเมือง ” smart city” ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ศูนย์การศึกษาโลจิสติกส์และการค้าชายแดน มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จะคอยนำเสนอ และรายงานความเคลื่อนไหวของโครงการให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
#smartcity#loei