ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 4/2563 ลดลงร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่ 3/2563 โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน และรัฐบาลขยายตัว การลงทุนในประเทศ และการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้น ขณะที่รายรับจากบริการต่างประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิต ภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.9 ตามผลผลิตพืชสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคนอกเกษตร ลดลงร้อยละ 4.7 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 6.7 ในไตรมาสที่ 3/2563 เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ เริ่มฟื้นตัว และการใช้จ่ายในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในภาพรวม รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลให้ภาคการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3/2563 โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ภาคบริการลดลงร้อยละ 5.9 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกิจกรรมหลักทางด้านบริการเริ่มมีการฟื้นตัว เช่น สาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้น ส่วนสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ และสาขาการศึกษา ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 1.9 การลงทุน การส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการลดลงร้อยละ 2.5 ร้อยละ 21.4 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2563 ขยายตัวร้อยละ 1.3 (QoQ SA)

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5176…

แหล่งที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (15 กุมภาพันธ์ 2564)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *